โปรดเกล้าฯ รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ฉบับลงวันที่ 3 ธันวาคม 2557 ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา หน้า 5 เล่ม 131 ตอนพิเศษ 246 ง วันที่ 4 ธันวาคม 2557 ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ความว่า

ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นางดวงสุดา เตโชติรส ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ต่อไปอีกวาระหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2552 ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 17 กันยายน 2552 นั้น เนื่องจากนางดวงสุดา เตโชติรส ได้ดำรงตำแหน่งมาครบกำหนดตามวาระแล้ว และที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ครั้งที่ 10/2557 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอขอพระราชทานโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนางสาวสุภัทรา โกไศยกานนท์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป และได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไปแล้ว

บัดนี้ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลดังกล่าวให้ดำรงตำแหน่ง อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลราชมงคลพระนคร ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557

สำหรับประวัติของ รองศาสตราจารย์สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดี มทร.พระนคร ท่านที่ 2 เกิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พุทธศักราช 2497 เป็นบุตรีของนายศักดิ์ และนางสุดสวาท โกไศยกานนท์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี อักษรศาสตรบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดอายุราชการ ได้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารและมีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพราชการมาโดยลำดับ ได้แก่ หัวหน้าแผนกวิชา หัวหน้าคณะวิชา ผู้ช่วยผู้อำนวยการหลายฝ่าย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ โดยตำแหน่งล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2557 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลราชมงคลพระนคร ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557 เป็นต้นไป

รองศาสตราจารย์สุภัทรา โกไศยกานนท์ มีความมุ่งมั่นนำพามหาวิทยาลัยไปสู่เป้าหมายด้วยการดำเนินการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยด้วยนโยบายสำคัญ 9 ด้าน ได้แก่ 1) การพัฒนาการจัดการศึกษาที่เน้นความเป็นเลิศทางวิชาการและความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ 2) การพัฒนาคุณภาพนักศึกษาที่สะท้อนอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย 3) การพัฒนางานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ 4) การบริการวิชาการที่มีศักยภาพในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน 5) การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมที่เป็นภูมิปัญญาของโลก 6) การบริหารจัดการสู่องค์กรคุณภาพและมีธรรมาภิบาล 7) การพัฒนาบุคลากรเพื่อให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพและมีคุณค่าของมหาวิทยาลัย 8) การนำมหาวิทยาลัยสู่ประชาคมอาเซียนและการเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ 9) การเตรียมความพร้อมในการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชั้นนำด้านการผลิตบัณฑิตมืออาชีพ”

ที่มา : รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่า มทร.พระนคร

 

Comments are closed.